วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

กรุงเทพมหานคร: เมืองโตเดี่ยวตลอดกาลของประเทศไทย

บทความโดย : กาญจนา ตั้งชลทิพย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

(ราชบัณฑิตยสถาน 2550)


กรุงเทพมหานคร พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร
อมรรัตนโกสินทร์ เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต
มหินทรายุธยา เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้
มหาดิลกภพ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง
นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการน่ารื่นรมย์ยิ่ง
อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย
อมรพิมานอวตารสถิต เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา
สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ซึ่งท้าวสักกะเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้
(สำนักผังเมือง 2547)


บทเริ่ม
ในปี 2550 อันเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา และในปีเดียวกันนี้ กรุงเทพมหานครก็ได้ดำรงความเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานถึง 225 ปี ซึ่งนอกจากเป็นเมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกแล้ว (ดูกรอบข้างบน) กรุงเทพมหานครยังมีความเป็นเมืองเอกนครหรือความเป็นเมืองโตเดี่ยวมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลกอีกด้วย .(กรุงเทพมหานคร) ได้ตั้งพิธีเสาหลักเมืองเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๔๔ (ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๓๒๕) ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๕๔ นาที(คัดจากพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่1 อ้างใน นิตยสารสารคดี 2533)

ความเป็นเอกนครหรือความเป็นเมืองโตเดี่ยวคืออะไร?
ความเป็นเมืองเอกนคร (Primate City) หมายถึง การที่เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศมีจำนวนหรือขนาดของประชากรมากกว่าเมืองอันดับรองอย่างมาก ความเป็นเอกนครจึงได้รับการเรียกขานในอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองโตเดี่ยว ตามลักษณะความเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่อย่างมาก มากจนมีขนาดใหญ่ห่างจากเมืองที่ใหญ่รองลงมาอย่างลิบลับ เป็นการเติบโตแต่เพียงเมืองเดียวล้ำหน้าเมืองอื่นๆ ดังนั้น ขนาดของความเป็นเอกนคร (Degree of Primacy) จึงวัดด้วยการคำนวณว่า เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศมีขนาดใหญ่กว่าเมืองใหญ่อันดับสองประมาณกี่เท่าตัว การวัดขนาดของความเป็นเอกนครเป็นวิธีการวัดความเป็นเมืองวิธีการหนึ่งในหลายๆ วิธี เราสามารถวัดความเป็นเมืองด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน เช่น วัดจากระดับความเป็นเมือง หรือวัดจากความเป็นเอกนครที่มีการคำนวณหาที่สลับซับซ้อนมากกว่า

ความเป็นเมืองโตเดี่ยวหรือความเป็นเอกนครของกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครมักได้รับการกล่าวถึงความเป็นเมืองที่มีความเป็นเอกนครสูงสุดเมืองหนึ่งของโลก Sternstein (1986) เคยกล่าวถึงความเป็นเมืองเอกนครของกรุงเทพมหานครว่า เป็น “a paragon - the beau ideal - of a primate city” ซึ่งมีความหมายว่า ความเป็นเอกนครของกรุงเทพมหานครมีความเด่นมากที่สุดเมืองหนึ่ง เป็นความโดดเด่นที่เป็นแบบอย่างของความเป็นเอกนครเลยทีเดียว
ทำไมความเป็นเอกนครของกรุงเทพมหานครจึงมีความโดดเด่นมากที่สุด ถ้าเราศึกษาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน พบว่า ไม่มีเมืองใดในประเทศไทยเลยที่มีประชากรเกินล้านคน ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีประชากรล้านคนมาตั้งแต่ปี 2490 (ภัสสร ลิมานนท์ 2525) เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความโตเดี่ยวอย่างมากของกรุงเทพมหานคร สำหรับสถิติของความเป็นเมืองเอกนคร Goldstein (1971) พบว่า ในปี 2490 ประชากรของกรุงเทพฯ มีจำนวนประชากรมากกว่าประชากรของเมืองเชียงใหม่ที่มีประชากรมากเป็นอันดับรองลงมา ถึง 21 เท่า ในปี 2503 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 27 เท่า ของเมืองเชียงใหม่เมืองใหญ่อันดับสอง และ ในปี 2510 เพิ่มเป็น 32 เท่า ของเมืองเชียงใหม่อีกเช่นกัน หรือในปีที่ค่อนข้างปัจจุบัน เช่น ในปี 2541 กรุงเทพมหานครที่มีประชากร 5.6 ล้านคน มีขนาดใหญ่กว่าเมืองนนทบุรีเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศที่มีประชากร 2 แสนกว่าคนถึง 28 เท่า (ปราโมทย์ ประสาทกุล 2543)
สำหรับในปี 2549 จากข้อมูลของสำนักทะเบียนกลาง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 กรุงเทพมหานครมีประชากร 5,695,956 คน มีขนาดใหญ่กว่าเทศบาลนครนนทบุรีที่ยังคงครองความเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ และมีประชากรอาศัยอยู่ 266,788 คน คิดเป็น 21 เท่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวเลขในปี 2549 นี้จะต่ำกว่าตัวเลขในปี 2541 เหตุผลส่วนหนึ่งน่ามาจากมีการเปลี่ยนการให้คำจำกัดความของความเป็นเมืองที่ให้มีการรวมเขตสุขาภิบาล เมื่อปี 2542 ทำให้ข้อมูลปี 2549 มีจำนวนประชากรเมืองในจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นตามคำจำกัดความใหม่ ในขณะที่ข้อมูลปี 2541 ยังใช้จำนวนประชากรตามคำจำกัดความเดิมที่ยังไม่รวมเขตสุขาภิบาลว่าเป็นประชากรเมือง นอกจากนี้ อีกเหตุผลหนึ่งน่ามาจากการที่กรุงเทพมหานครมีการเพิ่มของประชากรที่ช้าลงกว่าพื้นที่อื่นโดยเฉพาะถ้าเทียบกับจังหวัดในปริมณฑล ทำให้ความเป็นเมืองเอกนครของกรุงเทพมหานครลดลง ซึ่งแนวโน้มความเป็นเมืองโตเดี่ยวของกรุงเทพมหานครที่ลดลงนี้ อาจกล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของรัฐที่ต้องการลดการเติบโตของกรุงเทพมหานคร ด้วยการกระจายการพัฒนาไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดในปริมณฑล (Pakkasem 1988)
ผลจากนโยบายกระจายการพัฒนาไปยังเขตจังหวัดปริมณฑล อันได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ทำให้แผนพัฒนาเมืองในระยะเวลาต่อมาได้รวมกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลเป็นพื้นที่เป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า Bangkok Metropolitan Region หรือเรียกสั้นๆ ว่า BMR ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไปเมื่อมีการวิเคราะห์ถึงการเติบโตของกรุงเทพมหานครในเชิงพื้นที่ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่า หากพิจารณาถึงความเป็นเมืองโตเดี่ยวโดยมีการรวมเขตพื้นที่เมืองของจังหวัดปริมณฑลกับกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะส่วนที่เป็นพื้นที่เมืองที่ติดกัน ก็จะเห็นถึงความโตเดี่ยวของกรุงเทพมหานครส่วนที่เป็น BMR ที่สูงมาก เพราะถ้ารวมเขตพื้นที่ที่เป็นเมืองของจังหวัดปริมณฑลที่อยู่ติดกับกรุงเทพมหานคร ที่มีประชากรประมาณ 1.2 ล้านคน (1,219,900 คน) กับประชากรของกรุงเทพมหานคร ทำให้กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (BMR) มีจำนวนประชากรรวมกันมากถึง 6.9 ล้านคน ซึ่งมากกว่าเทศบาลนครเชียงใหม่ที่มีประชากร 0.15 ล้านคน (150,021 คน) และเป็นเมืองใหญ่อันดับสอง (เพราะเมืองใน 5 จังหวัดปริมณฑลถูกรวมกับกรุงเทพมหานครแล้ว) ถึง 46 เท่า หรือหากคิดจากจำนวนประชากรที่เป็นจริงที่มากกว่าตัวเลขตามทะเบียนราษฎรที่มีการตกหล่นจำนวนคนที่ไม่มีชื่อในทะเบียน ก็อาจจะถึง 50 เท่า (ดูบทที่ 1 ปราโมทย์ ประสาทกุล และคณะ. “ระเบิดคนเมือง” ในประเทศไทย)
จากภาพทั้งหมด ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน กรุงเทพมหานครยังคงดำรงความเป็นเอกนคร เป็นเมืองใหญ่เมืองเดียวที่ทิ้งห่างเมืองอื่นๆ ดังที่ขวัญสรวง อติโพธิ (นิตยสารสารคดี 2533) เคยกล่าวไว้ว่า “ทิ้งห่างจนเกินงาม” มาตลอด และเมื่อมีการขยายอาณาเขตพื้นที่ไปยังปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ความโตเดี่ยวของกรุงเทพมหานครยังคงทิ้งห่างเมืองอื่นๆ ของประเทศไทยต่อไปอีกนาน

จำนวนประชากรกรุงเทพมหานคร
มีความไม่แน่นอนของตัวเลขจำนวนประชากรกรุงเทพมหานครอยู่มาก ตัวเลขจากแหล่งต่างๆ จะแตกต่างกัน โดยมี 2 แหล่งข้อมูลใหญ่ๆ ที่มักถูกใช้อ้างอิงถึงจำนวนประชากรกรุงเทพมหานคร คือ สำมะโนประชากรและเคหะ และทะเบียนราษฎร ของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่เก็บรวบรวมจากข้อมูลประชากรที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร ซึ่งพบว่าทั้งสองแหล่งข้อมูลมีตัวเลขที่ต่ำกว่าที่เป็นจริงอยู่มาก อันเป็นผลเนื่องมาจากการตกการแจงนับของสำมะโนประชากรและเคหะ และการไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะได้กล่าวถึงโดยละเอียดอีกครั้งเมื่อถึงส่วนที่เขียนถึงจำนวนประชากรที่เป็นจริงของกรุงเทพมหานคร
จำนวนประชากรกรุงเทพมหานคร ตามสำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2543 พบว่า มีประชากร 6.35 ล้านคน จากตัวเลขในตาราง 1 แม้จำนวนประชากรของกรุงเทพมหานครได้เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีการสำมะโนประชากรและเคหะ แต่อัตราการเพิ่มจะลดลงในทุกครั้งของการสำมะโน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบประชากร กรุงเทพมหานครที่ได้จากการสำมะโนประชากรและเคหะ กับ ตัวเลขจากทะเบียนราษฎร พบว่า มีจำนวนที่ต่างกัน เช่น ในปี 2543 ประชากรกรุงเทพมหานครตามตัวเลขของสำนักทะเบียนกลางมีจำนวน 5,680,380 คน (ดูตาราง ผ1 ในภาคผนวก) น้อยกว่าตัวเลขจากการสำมะโนประชากรและเคหะ ที่มีจำนวน 6,355,144 คน โดยต่างกันเกือบ 7 แสนคน ซึ่งข้อมูลจากสำมะโนประชากรน่าจะใกล้เคียงตัวเลขจริงมากกว่า เพราะเป็นการแจงนับประชากรตามที่อยู่จริง ขณะที่จำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจากมีประชากรจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นผู้ที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ตนอาศัยอยู่
ตาราง 1 จำนวนประชากรกรุงเทพฯ อัตราการเพิ่มต่อปี สัดส่วนประชากรกรุงเทพฯต่อประชากรทั้งประเทศ และสัดส่วนประชากรกรุงเทพฯต่อประชากรเมืองทั้งประเทศ ตามปีสำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2503-2543


หมายเหตุ: * จำนวนประชากรกรุงเทพฯ ปี 2503 และ 2513 เป็นการรวมประชากรของจังหวัดพระนครและธนบุรี ซึ่งขณะนั้นแยกเป็นคนละจังหวัด และได้รวมกันเป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” เมื่อวันที่ 22ธันวาคม 2514 และเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2515
** สิ่งที่ควรระวังในการพิจารณาสัดส่วนต่อประชากรเมืองทั้งประเทศ คือ การเปลี่ยนแปลงคำจำกัด ความของเมือง ที่ทำให้ประชากรเมืองเพิ่มขึ้น และส่งผลให้สัดส่วนประชากรกรุงเทพฯ ต่อประชากรเมืองทั้งประเทศลดน้อยลง
ที่มา: คำนวณจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2503ก, 2503ข, 2513ก, 2513ข, 2523, 2533, และ 2543ก

แล้วประชากรกรุงเทพมหานครจริงๆ มีจำนวนเท่าไรกันแน่?
ปราโมทย์ ประสาทกุล และปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ (2548) เคยวิเคราะห์ว่า ในปี พ.ศ. 2548 ประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครน่าจะมีจำนวนถึง 7.6 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าจำนวนประชากรจากทะเบียนราษฎร อันเป็นผลจากการไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น หากต้องการหาจำนวนประชากรกรุงเทพมหานครที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงจากตัวเลขของทะเบียนราษฎร จำเป็นต้องพิจารณาถึงตัวเลขการไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งในปี พ.ศ. 2535 พบว่า มีผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานคร โดยชื่อจะยังคงอยู่ในทะเบียนบ้านที่จังหวัดอื่น (ซึ่งอาจเป็นจังหวัดบ้านเกิด) ถึงร้อยละ 31 (Chamratrithirong et al. 1995) และต่อมาการไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ตนอาศัยอยู่ของคนกรุงเทพมหานครได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 (ดูบทที่ 1 ปราโมทย์ ประสาทกุล และคณะ. “ระเบิดคนเมือง” ในประเทศไทย) ดังนั้นเมื่อคำนวณตัวเลขของผู้ที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของกรุงเทพมหานคร กับสัดส่วนของการไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานครที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 พบว่า ในปี 2549 กรุงเทพมหานครที่มีประชากรในทะเบียนราษฎร 5,695,956 คน จะเป็นผู้ที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ จำนวนถึง 2,278,382 คน ทำให้กรุงเทพมหานครมีประชากรที่รวมกันแล้วได้ประมาณ 7,974,338 คน ผลจากการคำนวณการไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนี้ ทำให้ภาพคร่าวๆ ของจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครได้ว่า น่าจะมีถึง 8 ล้านคน
นอกจากนี้ มักมีการกล่าวเสมอๆ ว่าจำนวนประชากรกรุงเทพฯ ในเวลากลางวันนั้นไม่เท่ากับจำนวนประชากรในเวลากลางคืน เพราะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ผู้ย้ายถิ่นรายวันหรือผู้ที่เดินทางไป-กลับในวันเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Commuter ในภาษาอังกฤษ คนเหล่านี้มักมีที่อยู่อาศัยอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร แต่มีสถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ถิ่นที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มนี้มักจะอยู่ในจังหวัดปริมณฑล ที่ราคาของบ้านพักอาศัยถูกกว่าในกรุงเทพฯ และใช้เวลาในการเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานครไม่มากนัก หรืออาจอาศัยอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรายังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนของคนกลุ่มนี้ แต่ มีข้อมูลจากการสำรวจ ในปี 2533 พบว่า ในจังหวัดนนทบุรีมีประชากรร้อยละ 23 ที่กำลังเรียนหนังสือต้องเดินทางไปเรียนหนังสือในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และร้อยละ 19 ของประชากรที่กำลังทำงานเดินทางไปทำงานในกรุงเทพมหานครทุกวัน (นิตยสารสารคดี 2533) ข้อมูลนี้แม้จะค่อนข้างเก่าแต่ก็ชี้ให้เห็นว่า เพียงแค่คนในจังหวัดนนทบุรีเพียงจังหวัดเดียวยังมีคนเดินทางไปกลับเข้ากรุงเทพฯ มากเท่านี้ ดังนั้น ในเวลากลางวันจึงน่าจะมีคนใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงของไทยมากกว่า 8 ล้านคน แน่นอน ซึ่งอาจจะมีถึง 10 ล้านคนทีเดียว

ปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรกรุงเทพมหานคร
ในการวิเคราะห์ถึงการเพิ่มขึ้นของประขากรเมือง Goldstein (1972) ได้สรุปว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองเป็นผลจากปัจจัยหลักๆ 4 ปัจจัย คือ 1) จากการเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ อันเกิดจากผลต่างของจำนวนการเกิดและการตาย 2) จากการย้ายถิ่นสุทธิ อันเกิดจากผลต่างของจำนวนการย้ายถิ่นเข้าและการย้ายถิ่นออก 3) จากการเปลี่ยนแปลงของขอบเขตพื้นที่ความเป็นเมืองที่มีการขยายออกไป และ 4) การกำหนดเขตเมืองใหม่ เช่นมีการให้คำจำกัดความของคำว่าเมืองใหม่ เป็นต้น สำหรับการเพิ่มขึ้นของประชากรกรุงเทพฯ เกิดจาก 3 ปัจจัย คือ การเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ การย้ายถิ่นสุทธิ และการเปลี่ยนแปลงของขอบเขตพื้นที่ความเป็นเมืองที่มีการขยายออกไป
ในตาราง 1 ชี้ให้เห็นว่า ประชากรกรุงเทพมหานครมีการเพิ่มขึ้นตลอด แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นช้าลง การเพิ่มขึ้นของประชากรกรุงเทพมหานครนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน ในอดีต โดยเฉพาะในช่วง กลางศตวรรษที่19 และต้นศตวรรษที่ 20 Sternstein (1982) คาดว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรกรุงเทพมหานครน่ามาจากผู้อพยพคนจีน ที่ส่วนหนึ่งอพยพย้ายถิ่นเข้ามาเพื่อทำงานรับจ้างภาคเกษตร และเป็นกรรมกรในการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ และส่วนหนึ่งหนีภัยจากการสู้รบภายในประเทศ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2548) แต่ในช่วงเวลาต่อมา ระหว่าง พ.ศ. 2483-2493 (1930-1950) นั้น เป็นผลจากการเพิ่มตามธรรมชาติ ที่เกิดจากการตายที่ลดลงมากกว่า (Sternstein 1982) และการเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติก็ยังคงเป็นปัจจัยหลักต่อเนื่องมาจนถึงช่วง พ.ศ.2498-2503 โดยทั้ง Goldstein (1972) ที่ใช้ข้อมูลสำมะโนประชากร ปี 2503 ในการวิเคราะห์ และ Sternstein (1982) ที่ใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎร และข้อมูลสถิติการตายในการวิเคราะห์ต่างก็ได้ผลตรงกันว่า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ แม้แต่ในช่วงเวลาหลังๆ เช่น ระหว่าง ปี พ.ศ. 2523-2533 ที่ จินตนา เพชรานนท์ และคณะ (Pejaranonda et al. 1995) ได้ใช้ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะปี 2533 ในการวิเคราะห์ ก็ยังพบว่า การเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติยังเป็นปัจจัยหลัก โดยการเพิ่มขึ้นของประชากรกรุงเทพมหานคร เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติร้อยละ 62 และเป็นผลจากการย้ายถิ่นสุทธิร้อยละ 38 ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากจำนวนหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ยังมีอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวนมากนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ที่ใช้ข้อมูลจาก สำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2543 ที่พบว่า ผู้ย้ายถิ่นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรของกรุงเทพมหานครน้อยกว่าผู้ที่ไม่ย้ายถิ่น (Tangchonlatip 2005) อย่างไรก็ตาม การย้ายถิ่นจะเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ (Pejaranonda et al. 1995)
ตาราง 2 จำนวนประชากรย้ายถิ่นเข้าสุทธิ (Net Migration Gain) ของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2498-2543


ที่มา: ปรับจาก ตาราง 3.1 ใน Sassangkarn and Chalamwong (1994)
จากตาราง 2 จะเห็นได้ว่า จำนวนประชากรที่กรุงเทพมหานครได้รับจากการย้ายถิ่นเข้าสุทธิ จะเพิ่มขึ้นมากในช่วง ระหว่างปี พ. ศ. 2518-2523 ที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (Exported-oriented Industrialization) และมีจำนวนสูงสุดในระหว่างปี พ. ศ. 2528-2533 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของไทยมีการเติบโตรวดเร็วมาก หรือที่รู้จักกันว่าเป็นช่วงของเศรษฐกิจฟองสบู่นั่นเอง (2535-2540) แต่จำนวนก็ได้ลดลงในช่วงเวลาต่อมา คือ ช่วงของเศรษฐกิจฟองสบู่แตก (2540-2543) ที่ส่งผลทำให้มีการย้ายถิ่นเข้ามาในกรุงเทพมหานครน้อยลง ขณะเดียวกันก็มีการย้ายถิ่นออกมากขึ้น เพราะการปิดตัวของธุรกิจต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการต้องออกจากงาน หรือได้รับรายได้ลดลง ทำให้จำนวนผู้ย้ายถิ่นสุทธิเข้ามาในกรุงเทพมหานครลดน้อยลง แต่ก็พบว่า ยังมีจำนวนไม่น้อยทีเดียว
ในขณะเดียวกัน การย้ายถิ่นได้เริ่มเบนทิศทางจากเข้ากรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดปริมณฑลมากขึ้น และมากกว่าเข้ามาในกรุงเทพมหานครเสียอีก (ดูตาราง ผ2 ในภาคผนวก) ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการพัฒนาที่เริ่มมีกระจายไปยังเขตปริมณฑลมากขึ้น และส่วนหนึ่งเนื่องมาจากกรุงเทพมหานคร มีประชากรอยู่หนาแน่นมากจนมีการย้ายออกไปอยู่ในจังหวัดข้างเคียงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขก็ได้ชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้ย้ายถิ่นในกรุงเทพมหานครไม่ได้ลดลงมากนัก นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครเองก็ยังมีประชากรแฝงที่ไม่ได้ถูกแจงนับ และมีผู้ย้ายถิ่นแบบไป-กลับ ที่ไม่ได้ถูกนับว่าเป็นผู้ย้ายถิ่นอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ผู้ย้ายถิ่นในกรุงเทพมหานครจึงยังมีจำนวนมากอยู่
จึงอาจสรุปได้ว่า การย้ายถิ่นยังคงมีบทบาทสำคัญต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของกรุงเทพมหานคร แม้จะมีการกระจายการย้ายถิ่นไปยังปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงก็ตาม



อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพมหานครมากกว่าพื้นที่อื่น
นอกจาก เหตุผลทางด้านเศรษฐกิจที่มีความต้องการแรงงานจำนวนมากเป็นแรงดึงดูด และสภาวะเศรษฐกิจของภาคชนบทที่รายได้จากการเกษตรไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ที่ทำให้มีการอพยพเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานครของคนชนบทจากภาคต่าง ๆ จำนวนมากแล้ว ความเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครในทุก ๆ ด้านก็น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญเช่นกัน
หากดูถึงแผนการพัฒนาของประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่าแผนพัฒนาตั้งแต่ฉบับที่ 1 - 3 (2504-2519) ได้เน้นการสร้างระบบสาธารณูปโภคในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ไม่ว่าเป็นระบบไฟฟ้า ประปา การคมนาคมขนส่ง การจัดตั้งสถานการศึกษา การสาธารณสุข (Pakkasem 1988) อีกทั้งยังสนับสนุนการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตสินค้าส่งออกในกรุงเทพฯ ในแผนพัฒนาฉบับที่ 4 - 6 (2520-2534) แม้ยังมีการสร้างระบบสาธารณูปโภคในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมีแผนการพัฒนาที่มีการกระจายไปสู่จังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง เช่น พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก และไปทางภาคตะวันออก โดยมีการริเริ่มโครงการ Eastern Sea Board ขึ้นในแผนพัฒนาฉบับที่ 5 (2525-2529) นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนให้มีการกระจายการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดรอบๆ กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ความต้องการที่จะผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ความเป็น NICs ทำให้แผนพัฒนาฉบับที่ 6 (2530-2534) ที่แม้มีความพยายามกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคอื่น แต่ก็มีแผนพัฒนากรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาของประเทศ (Pakkasem 1988) ทำให้กรุงเทพมหานครยังคงเติบโตและเป็นแหล่งดึงดูดผู้ย้ายถิ่น ต่อมาในแผนพัฒนาฉบับที่ 7 (2535-2539) ได้มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในเขตจังหวัดปริมณฑลมากขึ้น และเริ่มมีการขยายการสร้างไปยังพื้นที่จังหวัดในภาคกลางอื่นๆ และไปยังภาคตะวันออกด้วย
การพัฒนาที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากแผนพัฒนาที่เน้นกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ได้เป็นการช่วยเร่งการเติบโตของกรุงเทพมหานครให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากทำให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีสถาบันการเงิน ธุรกิจใหญ่ ๆ อีกทั้งเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญแล้ว กรุงเทพมหานครยังเป็นศูนย์กลางคมนาคมของประเทศ ที่ดูเหมือนว่าถนนหลักทุกสาย รถไฟเกือบทุกขบวน เรือขนส่งแทบทุกลำจะมีเป้าหมายที่กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเดินทางที่ไม่ว่าใครจะไปไหนไปที่ใด เหนือ-ใต้-ตะวันออก-ตะวันตกก็ต้องเดินทางผ่านกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังเป็นศูนย์กลางด้านสังคมและวัฒนธรรมของประเทศ อาทิเช่น ด้านการศึกษาที่มีโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มีความเข้มแข็งทางวิชาการ ที่หากมีโอกาสได้เข้าเรียนแล้วจะช่วยทำให้สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ยังตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครอีกเช่นกัน หรือความเป็นศูนย์กลางทางสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์ และบุคลากรที่มีความสามารถทำงานอยู่มากมาย สำหรับด้านศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานครมีสถานที่สำคัญที่เป็นศูนย์กลางของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น พระบรมมหาราชวัง วังอันเป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว วัดและสถานที่ทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย อีกทั้งเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมสำคัญตามประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ
ความเป็นกรุงเทพมหานครที่เป็นทั้งเมืองหลวงและเมืองที่เป็นศูนย์กลางของประเทศในทุก ๆ ด้าน ย่อมมีส่วนดึงดูดทั้งทรัพยากรการลงทุนต่าง ๆ และผู้คนจากพื้นที่อื่น ๆ เข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ย้ายถิ่นเข้ามาในกรุงเทพมหานครไม่ว่าเป็นด้วยเหตุผลใด จึงมีจำนวนมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศอย่างเด่นชัด
ณ เวลาปัจจุบัน แม้มีเมืองอื่น ๆ ได้รับแบ่งปันประโยชน์จากนโยบายกระจายการพัฒนาของรัฐ ซึ่งได้ส่งผลทำให้ความเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครลดน้อยลงบ้างแล้ว แต่ก็ดูเหมือนกรุงเทพมหานครยังมีการเติบโตด้านจำนวนประชากรอยู่ แม้ว่าเป็นการเติบโตที่ช้าลงก็ตาม

อะไรเป็นส่วนที่ทำให้กรุงเทพมหานครมีความโดดเด่นเหนือเมืองอื่นๆ
นอกเหนือจากเหตุผลที่มาจากผลของนโยบายการพัฒนาประเทศที่ทำให้กรุงเทพมหานครมีความโดดเด่นเหนือเมืองอื่น ๆ ของประเทศแล้ว ความเป็นมาของกรุงเทพมหานครยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมความเป็นเมืองเอกให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น ในการสร้างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงได้สอดแทรกคติความคิดความเชื่อที่เน้นความเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครมาตลอด เช่น การให้พระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางที่อิงความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นศูนย์กลางของจักรวาล มีกำแพงเมืองที่ดูเสมือนเป็นกำแพงกั้นระหว่างโลกมนุษย์ และสวรรค์ (Korff 1989) นอกจากนี้ทำเลที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร ที่เดิมเป็นเมืองท่าที่สำคัญของประเทศตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เป็นเมืองท่าที่บรรดาเรือสินค้าจากต่างประเทศมาเทียบจอดเพื่อขนถ่ายสินค้า กรุงเทพมหานครจึงเป็นศูนย์กลางทางการค้ามาตั้งแต่ในอดีต ความเป็นศูนย์กลางการปกครองประเทศก็เป็นปัจจัยที่ยิ่งเน้นความเป็นเมืองเอกของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมีการปฏิรูปการบริหารประเทศที่รวมศูนย์การปกครอง (Centralization) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยิ่งส่งผลทำให้ศูนย์กลางการปกครองประเทศอยู่ที่กรุงเทพมหานคร มากขึ้น และเป็นมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ความเป็นเมืองหลวงที่มีความโดดเด่นในทุก ๆ ด้านทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ได้ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาอย่างมากมาย ทั้งจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ ความสะดวกสบายในการเดินทาง อันเป็นผลจากนโยบายการพัฒนาของประเทศที่ผ่านมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะ กรุงเทพมหานครมีความเป็นกรุงเทพมหานครที่มีประวัติความเป็นมาที่พิเศษไม่ธรรมดา ที่ทำให้กรุงเทพมหานครไม่ได้เป็นเพียงเมืองหลวงของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมของประเทศในทุก ๆ ด้าน ที่คนไทยทุกคนอยากมาเยี่ยมเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต

การขยายตัวของกรุงเทพมหานครในมิติของพื้นที่
กรุงเทพมหานครมีการขยายตัวของพื้นที่ ตามลักษณะการใช้พื้นที่ที่มีการขยายออกไปเรื่อย ๆ โดยในระยะแรกของการขยายเมืองยังคงอยู่ในขอบเขตพื้นที่ส่วนที่เป็นกรุงเทพมหานคร ต่อมามีการขยายไปยังจังหวัดข้างเคียงที่อยู่ติดกันตามลักษณะการเติบโตของเมืองแบบมหานคร (Metropolitan Growth) และได้เติบโตมากขึ้นจากการมีส่วนขยายของเมืองไปยังจังหวัดอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ในลักษณะของ EBMR (Extended Bangkok Metropolitan Region) ที่มีความเป็นเมืองที่ต่อเนื่องติดต่อกัน และมีความเป็นเมืองที่เรียกว่า อภิมหานคร (Megalopolis) ตามรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไป

กรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Area หรือ Bangkok Proper)
เมื่อกรุงเทพมหานครได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2325กรุงเทพมหานครมีพื้นที่เพียง 4.14 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,589 ไร่ เท่านั้น โดยประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตกำแพงเมืองตั้งแต่คลองโอ่งอ่าง บางลำพู จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา และริมคลองใกล้เคียงกำแพงเมือง พื้นที่ที่เหลือยังเป็นที่ลุ่มและป่ารกร้างว่างเปล่า (สำนักผังเมือง 2547) เมื่อมีประชากรมากขึ้นก็ได้มีการขยายเมืองออกไปนอกเขตกำแพงเมือง ขุนนางข้าราชการตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) ส่วนประชาชนทั่วไปที่มีเรือกสวนไร่นาก็มักอาศัยอยู่นอกออกไป
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประชากรในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น จึงโปรดให้ขยายเมืองออกไปอีกชั้นหนึ่ง ด้วยการขุดคลองผดุงกรุงเกษมทางทิศตะวันออกเป็นคูเมืองชั้นนอก และเริ่มเข้าสู่ระบบการคมนาคมทางบก เมื่อมีการสร้างถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง และเฟื่องนคร ต่อมาเมื่อมีชาวต่างประเทศเข้ามาอาศัยในพระนครมากขึ้น จึงมีการตัดถนนสีลม ทำให้ชุมชนขยายออกไปทางทิศใต้ของพระนคร และมีการสร้างอาคาร ร้านค้าตามแบบตะวันตก ตามถนนที่เพิ่งตัดใหม่ ซึ่งมีหลักฐานว่า ในปี พ.ศ. 2443 พื้นที่เมืองได้ขยายเพิ่มเป็น 13.32 ตารางกิโลเมตร หรือ 8, 330 ไร่ และต่อมาได้มีการขยายเมืองออกไปทางทิศเหนือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระราชวังดุสิต สวน และวังต่าง ๆ พระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ จึงมีการสร้างถนนราชดำเนินเพื่อให้เป็นถนนเชื่อมพระบรมมหาราชวังกับวังต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการสร้างถนน สะพาน สิ่งก่อสร้าง ขุดคลอง เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคม และขนส่งผลผลิต และการเพาะปลูก ตลอดจนก่อสร้างเส้นทางรถไฟ (สายแรกจากกรุงเทพฯ ไปสมุทรปราการ และต่อมามีรถไฟหลวงจากกรุงเทพฯ ถึงอยุธยา) และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น รถราง ประปา ไปรษณีย์ ทำให้กรุงเทพมหานครมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างมาก (สำนักผังเมือง 2547)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนระบบการคมนาคมทางน้ำเป็นทางบกอย่างมาก เมื่อมีการสร้างถนนสายใหม่ ๆ โดยเฉพาะไปทางทิศตะวันออกของเมือง ส่วนทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาได้เริ่มขยายมากขึ้น เมื่อมีการสร้างสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชื่อมเมืองฝั่งตะวันออก (ฝั่งพระนคร) กับฝั่งตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่กรุงเทพมหานครได้รับการสถาปนามาครบ 150 ปี
ในปัจจุบัน หากพิจารณา พื้นที่ที่เป็นเขตกรุงเทพมหานครจริง ๆ กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่เพียง 1,568. 7 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย (513,115 ตารางกิโลเมตร) และหากจัดอันดับเรียงตามขนาดพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด กรุงเทพมหานครจะมีขนาดพื้นที่อยู่ที่อันดับ 68 ของประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่กว่าอีกเพียง 8 จังหวัดเท่านั้น คือ จังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ อ่างทอง สมุทรสาคร สิงห์บุรี นนทบุรี ภูเก็ต และสมุทรสาคร
หากดูความหนาแน่นของประชากร ใน ปี 2549 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพื้นที่เพียง 1,568. 7 ตารางกิโลเมตร แต่มีความหนาแน่นของประชากรถึง 3,631 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ประเทศไทยมีความหนาแน่นของประชากรเพียง 122.4 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร หรือจังหวัดนนทบุรีที่มีความหนาแน่นของประชากรเป็นอันดับสองของประทศ พบว่า มีความหนาแน่นเพียง 1,605.4 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความแออัดของกรุงเทพมหานครได้อย่างชัดเจน
ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 50 เขต และมีการจัดแบ่งเขตเป็น 3 กลุ่มพื้นที่ตามที่ตั้งของพื้นที่ คือ 1) เขตชั้นใน ประกอบด้วย 21 เขตการปกครอง 2) เขตชั้นกลาง ประกอบด้วย 18 เขตปกครอง และ 3) เขตชั้นนอก ประกอบด้วย 11 เขตปกครอง (สำนักผังเมือง 2547)
นอกจากนี้ ทางสำนักผังเมืองยังได้จัดแบ่งพื้นที่ของกรุงเทพมหานครตามการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ที่เริ่มต้นจากบริเวณเขตเมืองชั้นในและค่อย ๆ ขยายพื้นที่ออกไปตามการใช้พื้นที่ และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 บริเวณหลัก คือ 1) เขตเมืองชั้นใน (Inner City) ประกอบด้วยศูนย์กลางเมืองเดิมและเขตต่าง ๆ รวม 22 เขต เป็นพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานชุมชนในระยะแรกและพื้นที่อนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ สถานที่ราชการ สถานศึกษา ย่านธุรกิจการค้าหนาแน่น มีความหนาแน่นประชากรในเขตต่าง ๆ ส่วนใหญ่เกินกว่า 10,000 คน ต่อตารางกิโลเมตร 2) เขตชั้นกลางหรือเขตต่อเมือง (Urban Fringe) เป็นเขตที่มีการขยายตัวของประชากร กิจกรรมทางการค้าและที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง ตั้งอยู่ในรัศมีระหว่าง 10-20 กิโลเมตรจากศูนย์กลางเมือง ซึ่งในปัจจุบันเป็นบริเวณที่มีการพัฒนาเมืองอย่างกระจัดกระจาย (Urban Sprawl) ประกอบด้วย พื้นที่ทางฝั่งตะวันออก 14 เขต และทางฝั่งตะวันตก 8 เขต และ 3) เขตชั้นนอกหรือเขตชานเมือง (Suburb) เป็นพื้นที่เขตชั้นนอกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังมีพื้นที่ว่างและพื้นที่เกษตรกรรมอยู่เป็นส่วนใหญ่ และมีสัดส่วนสูงกว่าพื้นที่พัฒนาแบบเมือง โดยมีลักษณะผสมระหว่างเมืองและชนบท เป็นเขตที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางเมืองเกินกว่า 20 กิโลเมตรทางฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย เขตมีนบุรี คลองสามวา หนองจอก ลาดกระบัง และทางฝั่งตะวันตก ได้แก่ เขตบางบอน และเขตบางขุนเทียน (สำนักผังเมือง 2547)
จึงเห็นได้ว่า กรุงเทพมหานครมีความแตกต่างของพื้นที่ด้านการกระจายตัวของประชากร และการใช้ที่ดิน เขตชั้นในมีความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างสูง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตธุรกิจการค้า และสถานที่สำคัญ ๆ ส่วนเขตชั้นกลางที่เป็นพื้นที่ที่ถัดออกมา เป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวของประชากรและภาคธุรกิจการค้าต่าง ๆ ที่กระจายตัวออกมาจากเขตชั้นใน ในขณะที่เขตชั้นนอกอยู่ห่างจากศูนย์กลางเมืองมาก มีความหนาแน่นของประชากรน้อยลง และยังมีพื้นที่ส่วนที่เป็นเกษตรกรรมอยู่ จึงมีลักษณะเศรษฐกิจผสมผสานของเกษตรกรรม การค้า และอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับเปลี่ยนนโยบายพัฒนาเมืองในเวลาต่อมา ทำให้มีการขยายการพัฒนาทั้งของภาครัฐและเอกชนไปยังจังหวัดที่ติดกับกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดปริมณฑลทั้ง 5 จังหวัด ผลของการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นด้านระบบสาธารณูปโภค การลงทุนของภาคธุรกิจต่างๆ การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ตามความต้องการที่อยู่อาศัยของประชากร ทำให้จังหวัดปริมณฑลมีความเจริญที่ดึงดูดให้มีผู้เข้าไปอยู่อาศัยจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในแผนพัฒนาเมืองในระยะหลังต่อมา จึงเน้นการพัฒนาที่คลุมพื้นที่ทั้งเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (BMR--Bangkok Metropolitan Region)
เป็นพื้นที่ที่เป็นพื้นที่รวมของกรุงเทพมหานครและอีก 5 จังหวัดปริมณฑล คือ สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และนนทบุรี ส่วนที่เป็น BMR นี้ มีพื้นที่ทั้งหมด 7,761.6 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตที่เรียกว่า เขตมหานคร (Metropolis) ที่หมายถึง เขตพื้นที่ที่มีเมืองศูนย์กลาง และมีพื้นที่เมืองอื่น ๆ อยู่ล้อมรอบเมืองศูนย์กลางดังกล่าว โดยเขตพื้นที่เมืองที่ล้อมรอบเหล่านี้มีการผสมผสานทางเศรษฐกิจและสังคมกับเมืองศูนย์กลาง (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม 2524)
การเกิดเขตที่เป็นมหานครของกรุงเทพฯ นั้น เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาที่ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะกรุงเทพมหานคร แต่มีการขยายการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไปในเขตจังหวัดปริมณฑล อาทิ ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ส่งผลทำให้มีการไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น มีการขยับขยายไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และได้ส่งผลทำให้เกิดความต้องการแรงงานในพื้นที่มากขึ้นตามมา นอกจากนี้ยังมีการย้ายสถานที่ราชการสำคัญ ๆ ไปในเขตปริมณฑล โดยเฉพาะที่จังหวัดนนทบุรี ตลอดจนมีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อันเป็นผลจากตามความต้องการของที่อยู่อาศัยทั้งจากประชากรในพื้นที่ ผู้ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ และผู้ที่ต้องการบ้านพักอาศัยในราคาที่ไม่แพงนัก เนื่องจากบ้านที่อยู่ในเมืองชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพมหานครมีราคาสูงมาก ทำให้มีการย้ายบ้านเรือนออกไปอยู่ตามชานเมือง หรือพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้น เขตพื้นที่ที่อยู่ติดกับกรุงเทพมหานครของจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม จึงมีบ้านจัดสรรผุดขึ้นอย่างมากมาย (NESDB/UNDP/TDRI nd.) จนในปัจจุบันเองแทบไม่สามารถแยกเขตของกรุงเทพมหานครกับเขตของจังหวัดปริมณฑลได้เลย เพราะมีพื้นที่ของความเป็นเมืองที่ต่อเนื่องกันจนเรียกได้ว่าเป็นเมืองเดียวกัน
การขยายการใช้พื้นที่ ไปยังจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานคร ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในบริเวณพื้นที่ที่ติดกับกรุงเทพมหานคร และได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพของพื้นที่ในบริเวณนี้อย่างมาก ในการวางแผนการพัฒนาในระยะต่อมา จึงได้ขยายพื้นที่การพัฒนาที่ครอบคลุมพื้นที่ที่รวมจังหวัดปริมณฑลเข้าไปด้วย แทนที่ที่จะเป็นการพัฒนากรุงเทพมหานครโดด ๆ เพียงจังหวัดเดียวเหมือนที่เป็นมาในอดีต และพื้นที่นี้ได้กลายเป็นเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือที่เรียกกันว่า BMR (Bangkok Metropolitan Region)

กรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล และ จังหวัดใกล้เคียง (EBMR--Extended Bangkok Metropolitan Region)
ขอบเขตพื้นที่ส่วนขยายของกรุงเทพมหานครนั้น มีการเปลี่ยนแปลงตามการพัฒนาในพื้นที่ที่ขยายออกไป เช่น ในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 7 (2535-2539) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกำหนดขอบเขตพื้นที่ ส่วนขยายของกรุงเทพมหานครที่ครอบคลุมพื้นที่ของ 5 จังหวัดปริมณฑล และอีก 3 จังหวัดใกล้เคียง คือ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ต่อมา ผลจากนโยบายที่ต้องการขยายพื้นที่ความเจริญออกไปจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งในระยะหลังเงินลงทุนจากต่างประเทศได้เริ่มให้การสนับสนุนการลงทุนในจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้น การพัฒนาด้านต่าง ๆ จึงได้ขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง ทำให้พื้นที่ส่วนขยายของมหานคร หรือ BMR ครอบคลุมไปถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรีทางภาคเหนือ ทางทิศตะวันตกขยายไปทางจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี และยังขยายไปถึงเมืองตลอดแนวชายฝั่งทะเลตะวันออก คือ จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง (NESDB/UNDP/TDRI nd.)
EBMR จึงครอบคลุมพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง เป็นการขยายพื้นที่พัฒนาในจังหวัดในภาคกลางมากขึ้น ซึ่ง Jones et al. (1999) ได้แบ่งเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานครที่ขยายออกไปนี้ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและการจ้างงานใน อภิมหานคร (Megacities) ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เป็น 3 เขตใหญ่ๆ คือ 1) เขตที่เป็นกรุงเทพมหานคร (Bangkok Proper) 2) เขตวงแหวนชั้นใน (Inner ring) ที่เป็นพื้นที่ของจังหวัดปริมณฑล และ 3) เขตวงแหวนชั้นนอก (Outer ring) ที่ครอบคลุมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของประชากรและการจ้างงานในพื้นที่นี้มาก
ในระยะเวลาต่อมา พื้นที่ส่วนขยายของ BMR ได้มีการขยายออกไปโดยครอบคลุมอีกหลายจังหวัด รวม ทั้งหมด 19 จังหวัด คือกรุงเทพมหานครรวมกับอีก 18 จังหวัดในภาคกลาง ที่แบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย ๆ (IMAC 2007) ที่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพที่เด่นชัดที่สามารถพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้แก่
1. BMR Sub-region รวมพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัด คือ สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และนนทบุรี เขตนี้มีลักษณะเด่นของพื้นที่ คือ เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมด้านการเงิน การศึกษา เป็นศูนย์รวมของหน่วยงานด้านเทคนิคต่างๆ ด้านธุรกิจ รวมถึงธุรกิจแฟชั่น
2. Central Sub-region มีทั้งหมด 3 จังหวัด คือ สระบุรี อ่างทอง และ พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ที่มีความเด่นชัดในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการการผลิต ผลผลิตที่ป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และบริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิต นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการก่อสร้าง
3. East Sub-region มีทั้งหมด 5 จังหวัด คือ นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เป็นพื้นที่ของอุตสาหกรรมหนัก เป็นศูนย์กลางที่เข้าถึงท่าเรือสำคัญ ที่รวมถึงระบบการบริการเครือข่ายต่าง ๆ มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางด้านวิจัยและพัฒนา ที่รวมถึง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
4. West Sub-region มีทั้งหมด 5 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และสมุทรสงคราม พื้นที่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งสันทนาการสำคัญ มีอุตสาหกรรมที่ผลิตผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสูง และ software ต่าง ๆ
ดังนั้น ในมิติเชิงพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จึงมีการขยายออกไปมากและออกไปทุกทิศ ตามนโยบายที่ต้องการขยายการพัฒนาไปยังพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพ และมีการสร้างเครือข่ายถนน มีถนนวงแหวนเชื่อมต่อกัน มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทำให้พื้นที่ส่วนที่ขยายออกไปได้รับการพัฒนา และมีการเติบโตทางด้านประชากรและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกล่าวได้ว่า บริเวณที่ขยายออกไปนี้เป็นเมืองบริวารของกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นมาในลักษณะที่อยู่ล้อมรอบกรุงเทพฯ ไว้ ทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองอภิมหานคร (Megalopolis) ที่หมายถึง การที่เป็นเมืองเอกอยู่แล้ว แต่ยังมีฝูงเมืองเกิดขึ้นทุกทิศทาง (นิตยสารสารคดี 2533) ส่วนที่เป็น Extended Bangkok Metropolitan Region (EBMR) นี้ จึงยังคงเป็นพื้นที่หลักของนโยบายการพัฒนาเมืองของประเทศไทยต่อไป

อนาคตของกรุงเทพมหานคร
ในอนาคตประชากรกรุงเทพมหานครจะมีจำนวนเท่าไร?
มีการคาดประมาณจำนวนประชากรกรุงเทพมหานคร จากนักวิชาการหลายท่าน พบว่ามีความแตกต่างของตัวเลขตามฐานข้อมูลที่ใช้ในการคาดประมาณ และวิธีการที่ใช้ เช่น ตัวเลขจากการฉายภาพประชากรที่ทำโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (2546) พบว่า กรุงเทพมหานครมีการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ไม่มากนัก และอัตราการเพิ่มก็จะค่อย ๆ ลดลง โดยในปี พ. ศ. 2548 ประชากรกรุงเทพมหานครมีจำนวน 6.8 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นเป็น 7.1 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2553 เพิ่มเป็น 7.27 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2558 และเพิ่มเป็น 7.34 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่ไม่มากเลย
หากดูตัวเลขการคาดประมาณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในตาราง 3 จะพบว่าจำนวนประชากรกรุงเทพมหานครมีมากกว่าการฉายภาพข้างต้น แต่ก็ไม่มากนัก โดยปี พ.ศ. 2553 มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 7.9 ล้านคน มีความต่างกันเพียง 8 แสนคน อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขจะต่างกัน แต่ผลจากการคาดประมาณของทั้งสองแหล่งข้อมูล ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มประชากรกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง ๆ ซึ่งสาเหตุหลัก คือ การย้ายถิ่นเข้ามาในกรุงเทพมหานครที่มีแนวโน้มลดน้อยลง (ดูตาราง ผ2 ในภาคผนวก) ประกอบกับอัตราเพิ่มตามธรรมชาติของประชากรในกรุงเทพมหานคร ก็เริ่มต่ำลงมากด้วย เช่น ในสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2543 พบว่า คนกรุงเทพฯ มีภาวะเจริญพันธุ์รวมเพียง 1.5 ซึ่งหมายความว่า ผู้หญิงที่เคยสมรสอายุ 15-49 ปี 1 คน จะมีจำนวนบุตรเกิดรอดโดยเฉลี่ยประมาณ 1.5 คน ขณะที่ภาวะเจริญพันธุ์รวมในระดับประเทศเท่ากับ 1.7 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2543ก) ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการเพิ่มที่ช้าลงของจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานคร

ตาราง 3 จำนวนประชากร และอัตราเพิ่มประชากร จำแนกตามพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล ปี พ.ศ. 2543-2553 (ค่าคาดประมาณ)



ที่มา: ปรับจากตาราง 9.3 ใน Krongkaew (1996)

คนกรุงเทพมหานครเพิ่มน้อยลง

หัวข้อข้างต้นอาจฟังแล้วงง แต่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ประชากรที่อยู่ในกรุงเทพมหานครมีอัตราการเพิ่มที่ค่อย ๆลดลง ในขณะที่ประชากรที่อาศัยอยู่ใน 5 จังหวัดปริมณฑล มีอัตราการเพิ่มประชากรที่มีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลงเช่นกัน แต่ก็ยังมากกว่าอัตราการเพิ่มของกรุงเทพมหานคร (ดูตาราง ผ3 ในภาคผนวก)
ในตาราง 3 จากการคาดประมาณจำนวนประชากรของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เห็นได้ว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานคร แม้จำนวนประชากรกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรได้ลดลง ดังตัวเลขในตาราง 3 ที่ลดลงจากร้อยละ 1.4 เหลือเพียง 1.0 ในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2543 - 2553 เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การเติบโตหรือการเพิ่มขึ้นของประชากรกรุงเทพมหานครจะค่อย ๆ ช้าลง ในขณะที่ความเป็นเมืองหรือสัดส่วนของประชากรเมืองต่อประชากรทั้งหมดใน 5 จังหวัดปริมณฑลเพิ่มขึ้น จาก ร้อยละ 66 ในปี พ.ศ. 2543 เป็นร้อยละ 76 ในปี พ.ศ. 2553 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงอัตราการเพิ่มของประชากรเมืองของปริมณฑล แม้อัตราการเพิ่มจะสูงกว่ากรุงเทพมหานครมาก แต่ก็มีแนวโน้มในทางเดียวกันกับกรุงเทพมหานคร คือ มีอัตราการเพิ่มที่ลดลง คือ จากร้อยละ 4.4 ในปี พ.ศ. 2543 และค่อย ๆ ลดลงจนเหลือเพียง 3.4 ในปี พ.ศ. 2553
ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลมีอัตราการเพิ่มของประชากรที่มีแนวโน้มลดลง โดยกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มลดลงมากกว่าจังหวัดปริมณฑล ซึ่งหากพิจารณาปัจจัยการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มาจากจำนวนผู้ย้ายถิ่นสุทธิ เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนการย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพมหานครน้อยลงน่าจะเป็นเพราะ ณ ปัจจุบันแทบไม่มีความแตกต่างของความเจริญระหว่างเขตเมืองที่เป็นกรุงเทพมหานคร กับบริเวณพื้นที่รอยต่อ หรือส่วนที่เป็นเมืองของจังหวัดปริมณฑลกับกรุงเทพมหานครเลย ผู้ที่อาศัยอยู่ในปริมณฑลสามารถได้รับสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ทั้งอาชีพการงาน ความสะดวกสบาย ที่อยู่อาศัย แหล่งบันเทิงและสันทนาการ นอกจากนี้การเดินทางเข้ามายังตัวกรุงเทพมหานครเองก็มีระบบคมนาคมที่สะดวกมากขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่สามารถมีชีวิตเหมือนอยู่ในเมืองหลวงทุกอย่าง

บทส่งท้าย
ตามแนวคิดของการเป็นเมืองเอกนคร เมืองที่เป็นเมืองเอกนครมักมีบทบาทนำในประเทศ และดึงดูดทรัพยากรของประเทศมากกว่าเมืองหรือเขตการปกครองอื่นๆ (ดารณี ถวิลพิพัฒน์กุล 2541) ภาพของกรุงเทพมหานครตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบัน ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางของประเทศไทยในทุก ๆ ด้าน อีกทั้งยังเป็นเมืองหลวงที่ดึงดูดทรัพยากรของประเทศมาเกือบทั้งหมด ไม่ว่าเป็นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทำให้กรุงเทพมหานครได้รับการพัฒนา และเจริญเติบโตกว่าพื้นที่อื่นอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเอกนคร ที่โตกว่าเมืองอื่นอย่างมากมายโดยไม่เคยเปลี่ยนแปลง
จากการศึกษาความเป็นเอกนครของกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา และแนวโน้มของความเป็นเอกนครในอนาคต กรุงเทพมหานครน่าจะยังคงเป็นเมืองโตเดี่ยวของประเทศไทยต่อไปอีก โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่ความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานครมิได้มีขอบเขตเพียงตัวกรุงเทพฯ โดด ๆ เท่านั้น แต่ได้ขยายออกไปในจังหวัดปริมณฑล และมีแนวโน้มที่จะขยายต่อไปในจังหวัดอื่น ๆ ที่อยู่ในวงรัศมีของการพัฒนาเมือง และการเติบโตตามธรรมชาติของเมืองที่ต้องมีการขยายตัวออกไป กรุงเทพมหานครและเมืองบริวารจะยังคงดึงดูดคนและทรัพยากรจากที่ต่าง ๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่จะมีความเป็นเอกนครที่มีความโตเดี่ยวที่ทิ้งห่างเมืองรอง และเมืองอื่น ๆ แบบสมเหตุสมผล หรือห่างอย่างลิบลับจนเกินงาม ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการพัฒนาเมืองว่าจะยังคงเน้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงเพียงกลุ่มเมืองเดียว หรือเน้นกระจายความเจริญไปยังภูมิภาคอื่น ๆ อย่างเป็นธรรม ด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาเมืองไปยังเมืองขนาดกลางในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ฉันทัส เพียร-ธรรม (2542) เรียกว่า “เมืองในชนบท” ซึ่งเป็นเมืองที่สามารถเป็นศูนย์กลางการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเป็นของตนเอง เป็นศูนย์กลางการค้าขายและทำรายได้ให้แก่ท้องถิ่น โดยไม่ต้องพึ่งส่วนกลาง และสามารถเป็นศูนย์กลางการศึกษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการพัฒนาเกษตรนคร (Agrimetro) ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาภาคแนวใหม่ ที่เสนอโดย Friedmann และ Douglass (อ้างใน กฤช เพิ่มทันจิตต์ 2536) เพื่อเป็นการลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่อื่น การพัฒนาแนวนี้อาจจะช่วยลดการโตเดี่ยวของกรุงเทพมหานคร เป็นการกระจายการเติบโตไปยังภูมิภาคอื่น และสร้างความเข้มแข็งแก่พื้นที่ในเขตอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคชนบทได้

ภาคผนวก
ตาราง ผ1 จำนวนประชากรในทะเบียนบ้าน และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2542-2549



หมายเหตุ: เป็นจำนวนประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี
ที่มา: สำนักทะเบียนกลาง (2550)